ดราม่า!! ห้ามนั่งท้ายรถกระบะแท้จริงแล้วเป็นแบบนี้นี่เอง!!

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 29 พ.ค 2560
แชร์ 0

หลังจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกมีคำสั่งมาตรา 44 เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ออกมาบังคับใช้ก็กลายเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทย เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการโดยสารรถกระบะ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้แต่มีการฝ่าฝืนกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ 7 ข้อ ดังนี้

1. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 20 ระบุว่า ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้ คน สัตว์ หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถ อันอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ ทำให้ทางสกปรกเปรอะเปื้อน ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ส่วนแคปหลังนั้นออกแบบเพื่อตั้งวางสิ่งของไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้โดยสารนั่ง

2. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 วรรคสอง ระบุว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยในขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย

3. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 35 ระบุว่า รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทําได้

4. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ระบุว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงให้ทราบ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร

5. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (6) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถคร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ

6. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2536) ระบุว่า ไฟตัดหมอกที่ติดตั้งในรถยนต์นั้น สามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ในสภาวะที่มีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรค อันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถและต้องไม่มีรถอยู่ด้านหน้า หรือสวนมาในระยะของแสงไฟ หรือในระยะ 150 เมตร โดยสามารถใช้หลอดไฟแสงขาวหรือแสงเหลือง ที่มีกำลังไฟไม่เกินดวงละ 55 วัตต์ เท่านั้น

7. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (9) 9 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น

กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายมานานแล้วในหมวดของการบรรทุก นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ออกมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2522 รวมถึงมีกฎหมายอีกหลายข้อที่ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่มองข้ามจนกลายเป็นความเคยชิน และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายจนกลายเป็นดราม่าเกิดขึ้นแบบนี้นี่เอง