เลือกล้อแม็กซ์แบบไหน ที่ใช่กับรถของคุณ

ประสบการณ์ใช้รถ | 2 เม.ย 2561
แชร์ 27

แน่นอนว่าทุกคนก็อยากที่จะเพิ่มเติมความน่ามองของรถที่คุณรัก ด้วยการตกแต่งมากมายหลายวิธี และหนึ่งวิธีการตกแต่งให้รถของคุณดูน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อเหมือนทุกวันที่คุ้นเคยใช้งานมานั่นคือการตกแต่งรถด้วย “ล้อแม็กซ์ชุดใหม่” สักหนึ่งชุด

เลือกล้อแม็กซ์แบบไหน ที่ใช่กับรถของคุณ

เลือกล้อแม็กซ์แบบไหน ที่ใช่กับรถของคุณ

คงปฎิเสธไม่ได้ว่ารถหลายๆ คันที่วิ่งตามท้องถนน คนมักนิยมที่จะใช้วิธีการเพื่อเพิ่มความน่ามองให้กับรถด้วยการเปลี่ยนล้อแม็กซ์ใหม่ จำนวนร้านล้อแม็กซ์มากมายที่จะช่วยให้รถของคุณดูดีขึ้นได้ง่ายๆ เพียงแค่เลี้ยวเข้าไปที่ร้าน กลับออกมาก็สามารถทำให้รถของคุณดูสวยขึ้นได้ตามสไตล์ของผู้เป็นเจ้าของรถ แต่กระนั้นการเปลี่ยนล้อแม็กซ์ก็ใช่ว่าจะใช้เงินเพียงเล็กน้อย เงินหลักหมื่นถึงหลักแสนคือสิ่งที่คุณต้องใช้แลกมาเพื่อให้ได้ความสวยงามที่มากขึ้นกับล้อชุดใหม่ ฉะนั้นการที่จะคิดว่าแค่เลือกล้อในลวดลายที่คุณชอบ สิ่งที่คุณได้กลับมาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการใช้รถ ต้องทั้งสวย และการใช้งานดีหรือดีขึ้นน่าจะเป็นตอบที่ใช่กว่า

ขนาดล้อมีผลต่อการใช้งาน

เรื่องขนาดล้อที่เปลี่ยนไปจะมีผลต่อการใช้งาน ถ้าตามความชอบในครั้งแรกที่เห็นลวดลายของแม็กซ์แต่ขนาดของล้อชุดนั้นอาจจะใหญ่เกินไปสำหรับรถของคุณ ไม่ใช้ขนาดเดิมที่ติดรถมา แล้วรถของคุณสามารถเปลี่ยนไปใส่ล้อที่ใหญ่ขึ้นได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า กับขนาดล้อที่ใหญ่ขึ้น เช่นจาก 15 นิ้วเปลี่ยนมาเป็น 17 นิ้ว หรือแม้จะเรื่องความกว้างของล้อจากเดิมโรงงาน 6.5 นิ้ว เปลี่ยนมาเป็น 8 นิ้ว, 9 นิ้ว ล้วนจะมีผลต่อการขับขี่ใช้งานที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย น้ำหนักของล้อที่มากขึ้นด้วยขนาดก็จะทำให้รถกินน้ำมันมากขึ้นไม่มากก็น้อย อีกทั้งเมื่อล้อขนาดเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนยางชุดใหม่ ที่ต้องเลือกขนาดยางที่ค่าของเส้นผ่าศูนย์กลางให้ไม่ต่างจากล้อเดิมมากนัก เพื่อรักษามาตรฐานการใช้งานที่ไม่ต่างจากล้อขนาดเดิม ไม่เช่นนั้นแล้วในแง่การใช้งานขนาดล้อ และยางที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ล้อติดซุ้มล้อได้ เมื่อโดยสารหรือบรรทุกน้ำหนักมากๆ พาให้ต้องไปดัดแปลงที่ตัวรถเพิ่ม ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีก  

ภาพเปรียบเทียบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางล้อที่เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับขนาดยางตาม

ภาพเปรียบเทียบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางล้อที่เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับขนาดยางตาม

ถ้ารถของคุณเดิมใช้ล้อที่ขนาด 15 นิ้ว ส่วนใหญ่แล้วรถที่ใช้ล้อขนาดนี้จากโรงงานจะเป็นรถประเภทซิตี้คาร์ อีโค่คาร์, C-Segment เช่นรถ Honda Jazz, Toyota Yaris, Nissan March เป็นต้น มักเลือกที่จะเปลี่ยนไปคบหาล้อที่ขนาดใหญ่กว่าเช่น ล้อขนาด 16 นิ้ว, 17 นิ้ว หรือแม้กระทั่ง 18 นิ้วเพื่อความสวยงาม ไม่ค่อยมีใครเลือกที่จะเปลี่ยนล้อให้ขนาดเล็กลงมาเป็น 14 นิ้ว เมื่อล้อขนาดใหญ่ขึ้นตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าก็ต้องปรับขนาดยางให้เข้ากับล้อ แก้มยางที่เล็กลงเพื่อเส้นผ่าศูนย์กลางล้อไม่ต่างจากล้อเดิม แต่ก็อาจส่งผลต่อการใช้งานรถของคุณด้วยเช่นกัน แก้มยางยิ่งบางมากอาจทำให้ความนุ่มนวลที่รถเคยมีนั้นหายไป และไหนจะต้องระวังในเรื่องการใช้งานขับไปเจอหลุมเจอบ่อแรงๆ อาจกระแทกให้ล้อแม็กซ์เสียหาย แม็กซ์คด แม็กซ์ดุ้งเอาได้ง่ายๆ ดังนั้นการที่คุณจะยิ่งเปลี่ยนยางให้ใหญ่ขึ้น แก้มยางเตี้ยลงก็ต้องยอมรับว่าการใช้งานรถอาจไม่สะดวกสบายเหมือนแต่ก่อนตอนใช้ล้อที่ขนาดเดิมจากโรงงาน

หรือจะมองไปที่ประเภทรถขนาดใหญ่ขึ้นอย่างประเภท D-Segment พวกรุ่น Camry, Accord จะเลือกเปลี่ยนล้อจากเดิมโรงงาน 17 นิ้ว กระโดดไป 19 นิ้ว, 20 นิ้วซึ่งแก้มยางจะบางเอามากๆ การขับขี่จะยิ่งทวีทวีคูนความลำบากขึ้นไปอีก รวมไปถึงความถี่ที่ต้องหมั่นตรวจเช็คลมยางให้อยู่ในระดับอยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้ล้อแม็กซ์สวยๆ เสียหาย จากการใช้งาน แก้มยางยิ่งบาง ความห่างของล้อกับพื้นถนนก็ยิ่งน้อยลง และความระมัดระวังในการขับขี่ก็ต้องมากขึ้น ถ้าใจไม่รักจริงๆ ก็ไม่ควรเลือกขนาดล้อที่ใหญ่จากเดิมมากน่าจะดีกว่า

>> 8 รุ่นแม็กซ์สวย ยอดนิยมในเมืองไทย ทั้งแต่งซิ่งแต่งสวย ก็ต้องโดน

>> ล้อแม็กดุ้ง!! กับวิธีสังเกตอาการง่ายๆด้วยตนเอง

ล้อยิ่งใหญ่ขึ้นก็ต้องปรับให้แก้มยางบางลง

ล้อยิ่งใหญ่ขึ้นก็ต้องปรับให้แก้มยางบางลง

ความกว้าง และ Offset

ความกว้างของล้อ และ Offset ก็เป็นสิ่งที่ต้องนำไปพิจารณาเพิ่ม นอกจากเรื่องความกว้างของล้อที่มากขึ้นจะทำให้ต้องใช้ยางที่หน้ากว้างใหญ่ขึ้น ซึ่งมีผลในเรื่องของการบริโภคเชื้อเพลิงมากขึ้นแล้ว ถ้าเลือกขนาดล้อที่กว้างเกินไปกับระยะ Offset ที่ไม่เหมาะกับตัวรถอาจทำให้มีปัญหาด้านการใช้งานเพิ่มขึ้นมา ตัวล้อที่ยื่นออกมามากเกินไปจะทำเกิดปัญหายางติดซุ้มเวลาจั้มขึ้น-ลงสะพาน หรือยามบรรทุกโดยสารหนักๆ ลามให้ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายบานปลายเพิ่มเพื่อเช็ทช่วงล่างใหม่เพื่อ “ปรับรถให้เข้ากับล้อ” ซึ่งจริงๆ แล้วควรที่จะซื้อล้อให้เข้ากับรถมากกว่า

มองในแง่ความกว้างเดิมของล้อรถที่มาจากโรงงาน เริ่มตั้งแต่ขนาด 6.5-7 นิ้ว ถ้าล้อแม็กซ์ชุดใหม่ที่คุณกำลังจะซื้อมีความกว้างที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก การใช้งานของรถก็แทบไม่ต่างจากล้อเดิม แต่ปัจจัยก็ต้องขึ้นอยู่กับในเรื่องความ ตื้น-ลึกของล้อหรือที่เรียกกันว่า Offset ล้อด้วย สัญลักษณ์ ET ตามด้วยตัวเลขที่สติกเกอร์ด้านหลังของล้อจะบอกรายละเอียดไว้ทั้งหมด เช่น “15x6.5 ET+35” ก็หมายความว่า ล้อ 15 นิ้ว กว้าง 6.5 นิ้ว Offset อยู่ที่ +35 เป็นต้น ซึ่งค่า Offset +,- คือระยะห่าง(มิลลิเมตร) ที่วัดความห่างจากจุดศูนย์กลางของความกว้างล้อ ค่าตัวเลขต่างๆ  มีความหมายดังต่อไปนี้

  • Offset 0 ก้านล้อจะอยู่ที่จุดกึ่งกลางของตัวล้อ
  • Offset + คือ จุดยึดจะเลื่อนจากจุดกึ่งกลาง ออกมาทางด้านนอกของล้อ
  • Offset - คือ จุดยึดจะเลื่อนจากจุดกึ่งกลาง เข้าไปทางด้านในล้อ ทำให้ล้อดูลึก

ภาพเปรียบเทียบประเภทของ Offset แบบต่างๆ

ภาพเปรียบเทียบประเภทของ Offset แบบต่างๆ

ค่าความตื้นลึกของล้อกับร้านที่ขายล้อแม็กซ์ทั่วไป มักจะมากับขนาดล้อที่ไม่ฉีกแนว ล้อลึกๆ หน้ากว้างต่างจากเดิมโรงงานมากนัก เพื่อให้รถเดิมๆ ที่แค่ต้องการตกแต่งด้วยการเปลี่ยนล้อเท่านั้น ไม่ยุ่งยากในการใส่ ไม่ต้องดัดแปลงรถมากมาย แต่ถ้าเป็นล้อที่ขนาดสเปคปลี่ยนแปลงจากเดิมมากๆ เช่น หน้ากว้างจาก 6.5 เป็นกว้าง 10 นิ้ว Offset ติดลบออฟลึกๆ ยื่นๆ ก็ต้องมีการปรับแต่งที่ตัวรถเพื่อพยายาม “ยัด” ล้อใหญ่ๆ เข้าไปในซุ้ม และวิ่งใช้งานได้ เหมือนอย่างที่หลายคนอาจเคยเห็นกับรถแต่งแนว Flush หรือ V.I.P. ที่นอกจากราคาล้อจะแพงโดดกว่าล้อแม็กซ์ทั่วไปด้วยสเปคเฉพาะแล้ว ในแง่การใช้งานก็ถูกบั่นทอนลดลงไปมากพอสมควร ความกระด้างระดับขีดสุด หมดไปซึ่งความนุ่มนวลของช่วงล่าง คือสิ่งที่ต้องยอมรับกับการตกแต่งแบบขั้นสุดในสไตล์เหล่านี้  

ถ้ายังเน้นใช้งานที่สะดวกในการขับขี่อยู่ก็ไม่ควรเลือกขนาดล้อที่ต่างไปจากเดิมมากนัก

ถ้ายังเน้นใช้งานที่สะดวกในการขับขี่อยู่ก็ไม่ควรเลือกขนาดล้อที่ต่างไปจากเดิมมากนัก

ดังนั้นการเลือกล้อแม็กซ์ถ้าไม่ใช่ประเภทตกแต่งแบบสุดตาราง แค่เพียงเพื่อความสวยงามที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากล้อแม็กซ์ลายใหม่ การเลือกขนาดของล้อที่ไม่ต่างจากเดิมโรงงานก็น่าจะเป็นคำตอบที่ใช้ที่สุด สำหรับเพื่อการใช้งานรถที่คงซึ่งสมรรถนะ และความสวยงามที่มากขึ้นกับล้อแม็กซ์ลายใหม่ให้กับรถของคุณ  

ดูเพิ่มเติม

>> เลือกล้อแม็กซ์อย่างไร ให้ไม่เสียเงินฟรี

>> ล้อแม็กดุ้ง!! กับวิธีสังเกตอาการง่ายๆด้วยตนเอง