รถถูกชนอย่ารับผิดแทน จบไม่ง่าย 8211; เสี่ยงคุก

ตลาดรถยนต์ในประเทศ | 26 พ.ค 2559
แชร์ 0

หน้าตา คำพูด ชาติตระกูล เชื้อชาติ ไม่สามารถยืนยันนิสัยที่แท้จริงของคนได้นะครับ วันนี้ขอนำเสนอประสบการณ์งานคดีเกี่ยวกับรถชนกัน ซึ่งลูกความของผมเป็นฝ่ายถูกชนแท้ๆ แต่ด้วยความสงสารคู่กรณีที่ยกเหตุผลต่างๆ นานา มาอ้าง ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ จนลูกความของผมใจอ่อน จึงยินยอมรับผิดแทน ประกอบกับเห็นว่ารถของตนเองมีประกันชั้นหนึ่ง ส่วนของอีกฝ่ายเป็นประกันชั้นสาม การรับผิดแทนคู่กรณีอีกฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งคู่ เนื่องจากบริษัทประกันชั้นหนึ่งจะออกใบแจ้งซ่อมให้แก่รถยนต์ทั้งสองฝ่ายครับ ในคดีที่ไม่มีผู้ได้...

“ใจคนสุดยากจะหยั่งถึง” หน้าตา คำพูด ชาติตระกูล เชื้อชาติ ไม่สามารถยืนยันนิสัยที่แท้จริงของคนได้นะครับ วันนี้ขอนำเสนอประสบการณ์งานคดีเกี่ยวกับรถชนกัน ซึ่งลูกความของผมเป็นฝ่ายถูกชนแท้ๆ แต่ด้วยความสงสารคู่กรณีที่ยกเหตุผลต่างๆ นานา มาอ้าง ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ จนลูกความของผมใจอ่อน จึงยินยอมรับผิดแทน ประกอบกับเห็นว่ารถของตนเองมีประกันชั้นหนึ่ง ส่วนของอีกฝ่ายเป็นประกันชั้นสาม การรับผิดแทนคู่กรณีอีกฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งคู่ เนื่องจากบริษัทประกันชั้นหนึ่งจะออกใบแจ้งซ่อมให้แก่รถยนต์ทั้งสองฝ่ายครับ ในคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คดีก็จะจบลงที่สถานีตำรวจ ด้วยการเปรียบเทียบปรับ จ่ายค่าปรับ 400 บาท คดีก็จบแบบง่ายๆ รับใบแจ้งซ่อมแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านได้ แต่หากเป็นคดีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คดีไม่จบง่ายๆ อย่างที่คิดนะครับ

ในคดีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยาน หลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ และส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมกับสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งการตั้งข้อหาในแต่ละคดีไม่เหมือนกันครับ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คดีลหุโทษแก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558)

Banner_Motor2your1
คดีที่มีโทษทางอาญาแบบนี้ แม้บริษัทประกันจะชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ และ/หรือค่ารักษาพยาบาล และ/หรือค่าเสียหาย อื่นๆ และ/หรือค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือทายาทของผู้ตายแล้วก็ตาม แต่การชำระเงินของบริษัทประกันดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษารอลงอาญาจำเลยเสมอไปนะครับ

การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญามีหลายเหตุครับ เช่น จำเลยสำนึกผิดในการกระทำหรือไม่, จำเลยแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียหายหรือทายาทของผู้ตายอย่างไร, จำเลยไปเยี่ยมผู้เสียหายบ้างหรือไม่, จำเลยไปร่วมพิธีทางศาสนาหรือไม่, จำเลยชำระเงินส่วนตัวของจำเลยให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้ตายหรือไม่ เงินส่วนนี้เป็นเงินที่จำเลยชำระแยกต่างหากจากเงินที่บริษัทประกันชำระ ให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทของผู้ตาย, ฝ่ายผู้เสียหายหรือทายาทของผู้ตายได้แถลงไม่ติดใจเอาความ กับจำเลยหรือไม่ ฯลฯ

ในคดีที่คู่กรณีตกลงรับผิดแทนอีกฝ่าย ทั้งที่เป็นฝ่ายถูกชนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น หากท่านเจอคู่กรณีที่ดี เรื่องก็จบครับ เพราะเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล คู่กรณีจะแถลงต่อศาลหรือเจ้าพนักงานคุมประพฤติช่วยท่านทุกทาง เพื่อให้ศาลพิพากษารอลงอาญาให้แก่ท่าน โดยไม่เรียกร้องเงินจากท่านสักบาท แต่ถ้าท่านเจอคู่กรณีหัวหมอ งานนี้มีเสียวครับ เพราะคู่กรณีจะเปิดฉากเรียกร้องเงินจากท่านทันที เพื่อแลกกับการแถลงต่อศาลหรือเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ว่าไม่ติดใจเอาความท่าน คราวนี้ท่านจะนึกถึง “นิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า” ขึ้นมาครับ เพราะหากท่านไม่จ่าย ท่านต้องกลับคำให้การในชั้นศาล จากรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นปฏิเสธ เพื่อสู้คดี และต้องเสียเงินจ้างทนายความมาแก้ต่าง ถ้าท่านมีพยานหลักฐานสำหรับแก้ต่างแน่นท่านก็รอดคุก โดยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่อีกฝ่ายครับ แต่อาจจะมีเรื่องกับบริษัทประกันติดตามมาอีก รวมถึงการให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนด้วย

 

กรณีที่ท่านไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนการปฏิเสธเพื่อสู้คดี แบบนี้มีโอกาสเสี่ยงมากๆ ที่ศาลจะพิพากษาลงโทษสถานหนัก โดยไม่รอลงอาญา และอาจจะมีเรื่องกับบริษัทประกันติดตามมาอีก รวมถึงการให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนด้วย กรณีลักษณะนี้ผมแนะนำให้ท่านยอมจ่ายเงินให้คู่กรณีจะดีกว่าครับ เพราะท่านตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบแล้ว ส่วนจำนวนเงินเอาเท่าที่ท่านมีกำลังจ่าย แบบไม่เดือดร้อน เป็นทางออกที่ดีที่สุด เมื่อนำเงินที่ท่านต้องชำระให้แก่คู่กรณีมาเทียบกับค่าจ้างทนายความ ค่าเสียเวลา จะใกล้เคียงกันครับ แต่ต่างกันตรงที่เมื่อท่านชำระเงินให้แก่คู่กรณีไปแล้ว ท่านไม่ต้องวิตกจริต คิดมากตลอดเวลาที่คดีอยู่ในชั้นศาล กินอิ่มนอนหลับ เอาเวลาที่จะต้องมาศาลไปหาเงินได้อีกเยอะครับ

หากท่านตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และต้องการช่วยเหลืออีกฝ่าย ก่อนอื่นให้ตั้งสติและพยายามเก็บรวบรวมหลักฐาน ดังนี้

1. ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องติดรถไม่ว่าจะเป็นของท่านเอง หรือกล้องติดรถของผู้ร่วมทาง ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องโทรศัพท์มือถือ หรือมองบริเวณโดยรอบสถานที่เกิดเหตุว่าจุดใดมีกล้องวงจรปิดบ้าง

2. หาพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ สอบถามชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางติดต่ออื่นๆ

3. ถ่ายภาพความเสียหายของรถ ร่องรอยสีรถของคู่กรณีที่ติดบนสีรถของเรา ร่องรอยยางรถ ซึ่งเกิดจากการหยุดรถที่ปรากฏบนถนน

4. ทำบันทึกข้อตกลงกับคู่กรณีว่า ได้รับเงินค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแล้วและไม่ติดใจเอาความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกต่อไป

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน สร้างความเสียหายต่อตนเอง ครอบครัวและผู้อื่นครับ

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

ขอบคุณเนื้อหาจาก :: ทนายเจมส์ LK